หากจะพูดว่าคุณอาจมีความเสี่ยงภาวะ “เมตาบอลิกซินโดรม” คุณอาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไร แต่หากพูดใหม่ว่า คุณอาจกำลังเสี่ยง “อ้วนลงพุง” หลายคนอาจจะร้องอ๋อ เพราะจริงๆ แล้วสองโรคนี้เหมือนกัน แต่เรียกต่างกันเล็กน้อยเท่านั้น
แต่อ้วนลุงพง อันตรายกว่าโรคอ้วนปกติอย่างไร แล้วแบบไหนที่เรียกว่าอ้วนลงพุง เรามาสำรวจตัวเองกัน
สำหรับคนไทย
- ผู้ชาย ที่มีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร หรือเกิน 4 นิ้ว
- ผู้หญิง ที่มีรอบเอวเกิน 80 เซนติเมตร หรือเกิน 4 นิ้ว
หากมีรอบเอวเกินกำหนด แปลว่ามีความเสี่ยงภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุงนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง เพิ่มเติม เช่น
- ความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป (ความดันโลหิตตัวใดตัวหนึ่งสูงก็ถือว่าผิดปกติ) ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะอยู่เรื่อยๆ
- น้ำตาลในเลือดสูง ตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ส่งผลให้มีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อย
- ไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์สูง ตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
- คอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้ชาย หรือต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรสำหรับผู้หญิง
สาเหตุของภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง
ภาวะมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง เกิดจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ร่วมกับการไม่ออกกำลังกาย ทำให้น้ำหนักมากเกินไป พุงยื่น คนที่เป็นโรคอ้วน อาจมีความเสี่ยงโรคอ้วงลงพุงประกอบกันด้วย หรือในบางคนที่แขนขาหน้าตาไม่อ้วนท้วม แต่พุงยื่นพุงป่องอย่างชัดเจน ก็มีเช่นกัน
อันตรายของภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง
อันดับแรก ผู้ที่อยู่ในภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน อาหารการกินไม่ครยหมู่ ไม่ออกกำลังกาย พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้นจึงมีความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อที่อันตราย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อัมพาตที่เกิดจากหลอดเลือดสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือด นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และยังอาจก่อให้เกิดโรคตับเรื้อรังจากการที่มีไขมันสะสมอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งนำไปสู่โรคตับแข็งได้
วิธีป้องกันภาวะเมตาบอลิกซินโดรม หรือโรคอ้วนลงพุง
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป กินพอดีอิ่ม เน้นผักผลไม้ ไก่ลอกหนัง ปลาลอกหนัง ธัญพืชต่างๆ เป็นต้น
- ทานผักครึ่งจาน โปรตีน ¼ ของจาน และแป้ง ¼ ของจาน
- ลดการบริโภคอาหารที่เต็มไปด้วยแป้ง และน้ำตาล เช่น ขนมกรุบกรอบ เบเกอรี่ เค้ก ขนมปังขาว คุกกี้ ไอศกรีม
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที – 1 ชั่วโมง อาจเริ่มที่แอโรบิค วิ่งจ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นการทำงานของหัวใจ หรือออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ
- ตรวจสุขภาพเป็นประจำ หากมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนลงพุง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางป้องกัน และรักษาต่อไป
Comments